Hi-tech startup เมืองไทย ความฝัน หรือสิ่งที่เป็นไปได้? (ตอนที่ 1)

2010-10-10
dr.jay jootar

วันนี้ (10 ตุลาคม 2553) ผมมีโอกาสไปเป็น guest speaker ใน Entrepreneur sessionที่งาน Google DevFest Bangkok 2010 เป็นงานที่ Google มาโชว์เคสเทคโนโลยีต่างๆที่น่าสนใจมาก นอกจากผมก็มีคุณภาวุธ (tarad.com) คุณหมอจิมมี่ ผู้มาเป็นโปรแกรมเมอร์ด้วยความจำเป็นแต่สามารถส่งซอฟท์แวร์ไปขายต่างประเทศได้เป็นกอบเป็นกำ และน้อง Gat จากบริษัท LevelUp ผู้ทำเกม facebook น้องใหม่

ความคิดหลายอย่างตกผลึกจากการตอบคำถามในงานนี้ ผมเลยมาเขียนเก็บเอาไว้ที่นี่เผื่อจะมีประโยชน์กับหลายๆท่านที่มีฝันร่วมกับผมและอยากสร้างบริษัท hi-tech startup ในเมืองไทย ผมจะเขียนเป็น series นะครับโดยแต่ละบทความจะเขียนเพื่อตอบประเด็นแต่ละเรื่องที่ได้มีการพูดคุยกันในวันนั้นและสิ่งอื่นๆที่ผมคิดได้หลังจากงาน

การสร้างบริษัท hi-tech ในเมืองไทยมีข้อดีข้อเสียอย่างไร ?

นี่เป็นคำถามแรกที่ผมมีหน้าที่ตอบในงานนี้

ผมเชื่อว่าทุกคนที่อุตส่าห์เดินทางมาฟังถึงงานนี้อยากสร้างธุรกิจ hi-tech ในเมืองไทยทั้งนั้นไม่มากก็น้อย พนักงาน Google ที่มาร่วมในงาน ผมรับรู้ความรู้สึกได้เลยว่าอยากให้ Google มาเปิด office ในเมืองไทยจะได้ทำงานที่บ้านเกิดเมืองนอน ผมเองก็อยากทำธุรกิจ hi-tech เลยตั้งบริษัท Venture Catalyst ขึ้นมาเพื่อช่วยด้าน funding และด้าน consult ให้กับ hi-tech startup ในเมืองไทย

จริงๆผมไม่อยากจะทำให้คนที่ฟังเสียกำลังใจ แต่จากประสบการณ์ผมทั้งหมดผมสรุปได้เพียงอย่างเดียวว่า เมืองไทยมีข้อเสียหรือข้อจำกัดในการสร้างบริษัท hi-tech มากกว่าข้อดีอย่างมากมาย แต่ถึงจะไม่อยากทำให้เสียกำลังใจ ผมก็คิดว่าทุกคนที่ทำงานสายนี้ควรทำทั้งที่รู้ความเป็นจริงมากกว่าที่จะทำเพราะเพ้อฝันและหลงเข้าใจผิดไป เลยต้องเล่าความจริงให้ทุกคนฟัง อย่างน้อยก็จากมุมผม (และผมก็ยังทำงานนี้อยู่ดี แสดงว่ามันต้องมีทางไปได้ แล้วจะอธิบายให้ฟังว่าทำไมนะครับ)

ข้อดีของเมืองไทยที่ผมคิดได้คือบ้านเมืองเราน่าอยู่ สถานที่ท่องเที่ยวสวยงาม อาหารอร่อย คนนิสัยดี (คน Google มาบอกในงานว่า Google Singapore อาหารแย่มาก โดยเฉพาะผัดไทย ถึงขนาดกุ๊กโดนไล่ออก อะไรจะปานนั้น) ? จะเห็นว่าไม่เกี่ยวอะไรกับ hi-tech ทั้งสิ้น

ข้อเสียของการสร้างธุรกิจ hi-tech ในเมืองไทยมีหลายเรื่อง เรื่องที่สำคัญที่สุดในความคิดผมคือเรื่องของศักยภาพตลาด hi-tech ในเมืองไทยเอง ในงานผมบอกว่าตลาด hi-tech ในเมืองไทยมีขนาดเล็ก เวลามันกระชับผมเลยพูดสั้นไปหน่อย จริงๆที่ผมจะบอกคือตลาดที่สามารถรองรับการสร้างบริษัท hi-tech startup ในเมืองไทยนั้นมีขนาดเล็กเกินไป

ผมอยากจะชี้ความแตกต่างระหว่างการสร้าง hi-tech startup ขึ้นมาในเมืองไทย กับการเอาสินค้า hi-tech จากต่างประเทศเข้ามาขายในเมืองไทย ไอ้อย่างหลังไม่มีปัญหาครับ ทำได้ มีคนได้รายได้ดีจากการเป็นตัวแทนจำหน่ายสินค้า hi-tech จากต่างประเทศมากมาย แต่อันนี้ไม่ใช่สิ่งที่เรากำลังพูดกัน เวลาพูดถึง hi-tech startup เราหมายถึงการสร้างสินค้าบริการ hi-tech ไม่ใช่แค่การเอามาขาย (แต่ไม่ได้มีอะไรเสียหายนะครับ แค่คนละประเด็น)

ที่ผมบอกว่าตลาดเล็กไปสำหรับ hi-tech startup ผมขอแตกรายละเอียดอธิบายทีละ segment ให้เห็นภาพชัดเจนขึ้นนะครับ

1. ตลาดซอฟท์แวร์สำหรับ consumer

มองรอบตัวคุณว่ามีสักกี่คนที่ซื้อซอฟท์แวร์ลิขสิทธ์ใช้ครับ…. เห็นภาพนะครับ คุณหมอ Jimmy ที่อยู่ใน Panelist สามารถขายซอฟท์แวร์สำหรับ consumer ได้ แต่ขายที่ยุโรปนะครับ คือคุณหมอแกทำซอฟท์แวร์ดีมากแต่แจกฟรีเพื่อโปรโมทก่อน แต่แจกเพลินจนฝรั่งที่ทำซอฟท์แวร์คล้ายๆกันต้องบอก เฮ้ยมึงเลิกให้ฟรีสักทีตูขายไม่ได้เลย คุณหมอบอกก็ไม่รู้จะขายยังไงนี่หว่า เมืองไทยแมร่งใช้ของเถื่อนกันทั้งนั้น ไปๆมาไอ้ฝรั่งคนนั้นเลยมาเป็นพาร์ทเนอร์ช่วยขายซอฟท์แวร์ไปตลาดยุโรปจนได้เรื่องได้ราว เป็น success story ที่ฟังแล้วน่าสนใจ ขำดี

คุณหมอบอกเองว่าขายที่เมืองไทยตอนนั้นยังไงก็มองไม่ออกว่าจะขายยังไงในตอนนั้น ผมคิดว่าถึงตอนนี้ก็ยังยากอยู่ครับ สรุปคือขายซอฟท์แวร์สำหรับ consumer เมืองไทยลำบากจริงๆ ถ้าจะทำจริงๆขายต่างประเทศไปเลยดีกว่า อย่างที่คุณหมอทำ ส่วนอีกตัวอย่างที่บางคนอาจใช้แย้งข้อนี้ของผมคือ Asiasoft ซึ่งก็ขายเกมซึ่งถือเป็นซอฟท์แวร์ให้กับ consumer ในเมืองไทย ต้องบอกว่า Asiasoft เป็นลักษณะของ Game publisher มากกว่า คือเอาเกมที่ซื้อจากที่อื่นมาทำการตลาดในเมืองไทย (ไม่ได้มีอะไรเสียหายนะครับ คุณเจ้าของท่านก็รวยไป แค่ไม่ใช่ hi-tech startup ในรูปแบบที่เรากำลังคุยกันอยู่)

2. ตลาดฮาร์ดแวร์สำหรับ consumer

ถ้าคุณตั้งบริษัททำฮาร์ดแวร์ขึ้นมาขาย consumer ในเมืองไทย สิ่งที่จะเสียเปรียบคู่แข่งที่มาจากประเทศใหญ่ๆอย่างจีนก็คือ economy of scale ผู้ผลิตในประเทศใหญ่มีข้อได้เปรียบเพราะแค่สามารถเอาผลิตภัณฑ์ขายในประเทศตัวเองได้ก็สามารถสร้าง economy of scale ได้แล้ว เมื่อราคาต่ำลงจาก economy of scale ก็สามารถเอาไปขายประเทศอื่นๆได้อีก ประเทศเราเล็กเมื่อเทียบกับประเทศพวกนั้น แข่งกันยากหน่อยครับ ตัวอย่างที่เป็นข้อยกเว้นที่ผมเห็นคือ Talking Dict ซึ่งใช้ความได้เปรียบทางด้านภาษาไทยซึ่งก็เป็นสิ่งที่ดีและน่าเอาแบบอย่างสำหรับผลิตภัณฑ์ที่มีความเกี่ยวข้องกับภาษานะครับ ยังไงคนไทยก็เก่งภาษาไทยกว่าชาติอื่น (อย่างน้อยก็ตอนนี้นะครับ)

3. ตลาดซอฟท์แวร์และฮาร์ดแวร์สำหรับ SME

คุณภาวุธ บอกในงานว่าควรทำขายสินค้าบริการที่ทำให้ธุรกิจทำรายได้มากขึ้น อย่าไปทำอะไรที่เพิ่มประสิทธิภาพอะไรเลยเพราะเขาไม่สนใจหรอก ผมอยากจะบอกว่าเห็นตรงกันเป๊ะ ผมเห็นด้วย 1000%

อันนี้จากประสบการณ์โดยตรงของผมตอนที่อยู่ที่ True ผมเคยเอาสินค้าบริการหลายอย่างไปขาย SME ส่วนใหญ่ที่ประสบความสำเร็จขายได้คือสิ่งที่ช่วยด้านการขายการตลาด ให้เกิดรายได้ขึ้นมาแบบจับต้องได้ อะไรที่บอกมาสร้างความแตกต่าง มาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพ ขายไม่ออกครับ ฝุ่นจับหนาเตอะเลย ผมเคยขายสินค้าบริการที่นอกแนวนี้ได้อยู่เหมือนกัน เป็นแบบที่ลดต้นทุนแต่ลดแบบทันตาเห็น เลยขายได้ แต่พวกนี้ก็ไปไม่ได้ไกลนักเพราะถ้าจุดขายคือราคาแล้วส่วนเราก็ต้องลดราคาแข่งกันอยู่ร่ำไปจนกว่าจะขาดทุนกันไปข้างนึง

เพราะอะไรหรือครับ ผมฟันธงว่าเพราะกลยุทธ์ธุรกิจ SME ไทยส่วนใหญ่เน้นขายอย่างเดียว ไม่เน้นสร้างความแตกต่างของสินค้าบริการอย่างจริงๆจังๆ อย่างมากคือ packaging เพราะฉะนั้นเครื่องไม้เครื่องมือ IT ที่เอามาช่วยสร้างความแตกต่างอะไร พูดไปเถอะครับแทบจะไม่ได้รับความสนใจเลย เอายอดขายไว้ก่อน โฆษณาไม่ได้ผลก็ลดราคา Sanook.com Tarad.com Kapook.com Pantip.com ทั้งหลายแหล่ก็ได้รายได้จากโฆษณาบ้างหน้าร้านออนไลน์บ้าง ล้วนแล้วแต่เกี่ยวกับแนวเพิ่มรายได้ทั้งนั้น เพราะยอดขายระยะสั้นคือเป้าหมายสูงสุดเป้าหมายเดียว ของ SME ไทยส่วนใหญ่

เพราะฉะนั้นไม่แปลกใจว่าเทียบกับประเทศอื่นๆแล้ว SME ไทยถือว่ามีการเอา IT มาใช้เป็นส้ดส่วนที่น้อยมาก ถ้า SME เราสนใจการนำเอา IT มาช่วยธุรกิจในด้านอื่นๆมากกว่านี้เราก็น่าจะเห็นธุรกิจ hi-tech ที่มีความหลากหลายมากกว่านี้ ผู้ประกอบการ hi-tech จะมากกว่านี้ แต่เท่าที่เราเห็นๆก็จะไปในแนวทางที่คล้ายๆกันกับตัวอย่างที่ผมยกมาหลายเว็บไซต์

4. ตลาดซอฟท์แวร์และฮาร์ดแวร์สำหรับองค์กรธุรกิจขนาดใหญ่

เทียบกับตลาดที่พูดมาทั้งหมดผมมองว่าตลาดนี้เป็นตลาดที่มีศักยภาพที่สุด มีเงิน และ มีการวางแผนระยะไกลที่ทำให้เรื่องของการสร้างความแตกต่างแบบที่ต้องนำเอาเทคโนโลยีมาใช้เป็นสิ่งที่ผู้บริหารคำนึงถึง แต่ตลาดนี้ก็มีประเด็นอยู่เหมือนกันคือเนื่องจากองค์กรใหญ่ มีเงิน ก็สามารถซื้อของแพงๆจากต่างประเทศได้ ไม่จำเป็นต้องเสี่ยงกับสินค้าใหม่ในประเทศที่ยังไม่ได้พิสูจน์ตัวเอง

อีกเรื่องหนึ่งคือส่วนใหญ่กระบวนการจัดซื้อใช้เวลาพอสมควร และมีผู้ตัดสินใจหลายคน และกระบวนการตัดสินใจบางครั้งก็ขึ้นอยู่กับการเมืองภายในองค์กร (เทียบกับ SME ที่ส่วนใหญ่เถ้าแก่ตัดสินใจหมด) โจทย์คือหาองค์กรที่มีวิสัยทัศน์ หรือ องค์กรที่อยากช่วยบริษัท hi-tech ไทยให้เกิด ซึ่งผมมั่นใจว่ามีครับ เพราะตัวเองก็เจอๆอยู่ โจทย์คือต้องหาองค์กรเหล่านี้ให้เจอ และพยายามเข้าให้ถูกช่องทาง

5. ตลาดซอฟท์แวร์และฮาร์ดแวร์สำหรับราชการ

เป็นตลาดที่ใหญ่มาก แต่อย่างที่เราพอรู้กันอยู่ว่าตลาดนี้โดยส่วนใหญ่มีกระบวนการตัดสินใจที่ยากแท้หยั่งถึงได้ เฉพาะคนที่อยู่วงในเท่านั้นที่จะเข้าใจ ผมคิดว่าเพราะที่การตัดสินใจมีปัจจัยอื่นที่อาจจะไม่เกี่ยวกับ merit ของตัวสินค้าบริการ (พูดแค่นี้นะครับ คิดเอาเองว่าหมายถึงอะไร) ตลาดนี้จึงเป็นพื้นฐานที่ไม่ดีนักกับการสร้างบริษัท hi-tech startup

ที่คิดอย่างนี้เพราะการสร้างบริษัทไม่ใช่แค่มีเงินเข้าจากลูกค้าก็พอ การสร้างบริษัทคือการสร้างคน สร้างทีม และสร้างวัฒนธรรม พนักงานและองค์กรต้องเรียนรู้ที่จะปรับตัวและแข่งขัน เพื่อเพิ่มความสามารถมากขึ้นเรื่อยๆและขยายตลาดให้กว้างไกลออกไป ถ้ามีสภาพการแข่งขันที่เหมือนกับการแข่งขันจริงในตลาดที่จะขยายไป องค์กรก็จะเก่งในทางที่ถูกขึ้นเรื่อย แต่ในทางตรงกันข้ามถ้าสภาพการแข่งขันเน้นการใช้กำลังภายในในแบบฉบับของรายการไทย องค์กรก็จะหันไปเก่งในทางนั้น ปัญหาก็คือความเก่งแนวนี้มันเอาไปใช้อะไรไม่ได้หรือใช้ได้น้อยในตลาดอื่น

หลายท่านอาจจะมองว่าใช้ตลาดนี้เป็นฐานไปในการสร้างสินค้าบริการไปก่อน แล้วพอไปตลาดอื่นๆก็ปรับตัวไปตามตลาดนั้น อันนี้แล้วแต่จะคิดนะครับ ส่วนตัวผมค่อนข้างจะเชื่อว่าจุดเริ่มต้นที่ไม่ดีมักส่งผลไปยาวไกลกว่าที่เราคิดเสมอ

พูดมาถึงจุดนี้ คุณผู้อ่านคงสงสัยว่าผมดูเหมือนจะไม่มีความเชื่อในการสร้างhi-tech startup ในเมืองไทยเลย แล้วผมตั้งบริษัท Venture Catalyst มาเพื่ออะไร

คำตอบคือผมรักในการทำ hi-tech startup ครับ เหมือนที่คุณ Alan Nobel Director ของ Google Australia พูดในงานว่า "Life is too short, just do what you love? หรืออะไรประมาณนี้ ผมรักงานนี้ และที่สำคัญผมรักเมืองไทย ผมต้องการจะทำงาน hi-tech startup ในเมืองไทย ถ้าผมรัก hi-tech มากกว่าผมจะทำงาน hi-tech ที่อเมริกา ถ้าผมรักเมืองไทยมากกว่าผมจะเลือกเดินสายอื่นที่มีโอกาสชัดเจนกว่า hi-tech แต่ผมรักสองอย่างและผมไม่อยากเลือก ผมจึงทำ hi-tech ที่เมืองไทย

แต่ผมเป็นคนที่ถ้าทำอะไรต้องเห็นทางสำเร็จ เพราะฉะนั้นคงเดาได้ว่าผมตัดสินใจเลือกแนวทางนี้เพราะผมคิดว่าจากประสบการณ์ที่เจอด้วยตัวเองและการวิเคราะห์ในทุกด้าน ผมพอจะหาแนวทางที่เราจะสามารถสร้าง hi-tech startup ในเมืองไทยได้แล้ว และอยากที่จะแบ่งปันให้กับคนที่มีความฝันร่วมกัน

ในบทความถัดไปผมจะตอบคำถามถัดไปของ Google ว่าถ้าอยากสร้างธุรกิจ hi-tech ในเมืองไทยต้องทำอย่างไร? อย่าลืมติดตามนะครับ