สงครามสมาร์ทโฟน

2011-04-25
dr.jay jootar

การแข่งขันในธุรกิจโทรคมนาคมทุกวันนี้ไม่ได้เป็นการแข่งขันกันระหว่างผลิตภัณฑ์และบริการเป็นตัวๆไปอีกต่อไปแล้ว แต่เป็นการแข่งขันกันระหว่างแพลทฟอร์ม ซึ่งหมายรวมถึงระบบปฎิบัติการ (Operating System) และส่วนประกอบย่อยๆทั้งหมดที่เป็นพื้นฐานของผลิตภัณฑ์และบริการ การแข่งขันระหว่างแพลทฟอร์มที่ดุเดือดและน่าจะเป็นตัวตัดสินว่าใครจะเป็นผู้นำของวงการโทรคมนาคมคือการแข่งขันของ "แพลตฟอร์มสมาร์ทโฟน" ทั้งนี้เพราะโทรศัพท์เคลื่อนที่โดยเฉพาะสมาร์ทโฟนได้กลายเป็นอุปกรณ์หลักในชีวิตประจำวันของทุกคนมากขึ้นทุกวัน

ก่อนหน้าการแข่งขันในตลาดสมาร์ทโฟน ตัวอย่างการแข่งขันระหว่างแพลทฟอร์มที่เห็นได้ชัดที่สุดคือแพลทฟอร์มเครื่องคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล (PC) สำหรับผู้ใช้เครื่อง PC สิ่งสำคัญที่สุดสำหรับการใช้งานไม่ใช่แบรนด์ของเครื่องแต่เป็นระบบปฏิบัติการ และเป็นที่รู้กันว่าผู้นำของระบบปฏิบัติการ PC คือระบบปฏิบัติการวินโดวส์ของบริษัทไมโครซอฟท์ ไมโครซอฟท์เป็นผู้นำตลาดนี้ไม่ใช่เพราะระบบปฏิบัติการวินโดวส์ดีกว่าระบบปฏิบัติการอื่น แต่เป็นเพราะวินโดวส์เป็นแพลทฟอร์มที่มีผู้พัฒนาแอพพลิเคชั่นให้เลือกใช้มากที่สุด การที่มีแอพพลิเคชั่นมากกว่าแพลทฟอร์มอื่นก็ทำให้ผู้ใช้หันมาใช้วินโดวส์มากยิ่งขึ้น และเมื่อมีผู้ใช้มากขึ้นก็ดึงดูดผู้พัฒนาแอพพลิเคชั่นให้มากขึ้นไปอีกเนื่องจากมีฐานลูกค้าที่ใหญ่กว่าแพลทฟอร์มอื่น เป็นวงจรบวกที่ทำให้ไมโคซอฟท์เข้มแข็งขึ้นตั้งแต่เริ่มจนเป็นผู้นำตลาดซอฟท์แวร์ PCในที่สุด

ในระยะแรกเริ่มของตลาดสมาร์ทโฟนการแข่งขันยังคงเป็นการแข่งขันระหว่างผลิตภัณฑ์เป็นตัวๆไปคล้ายตลาด PC ในระยะแรกเริ่ม ผู้ผลิตแต่ละรายต่างก็พยายามออกผลิตภัณฑ์ออกมาหลากหลายโมเดลเพื่อแข่งขันกัน ส่วนใหญ่ผลิตภัณฑ์ที่ออกมาจะเบ็ดเสร็จในตัวเอง ในยุคนั้นการโหลดแอพพลิเคชั่นมาเพิ่มเติมยังไม่แพร่หลาย ฟังก์ชั่นหลักของโทรศัพท์อยู่ในฮาร์ดแวร์หรือซอฟท์แวร์ที่ติดมากับเครื่อง ไม่ใช่แอพพลิเคชั่นที่โหลดมาเพิ่มเติม ดังนั้นการแข่งขันจึงจำกัดอยู่ระหว่างโทรศัพท์เป็นรุ่นๆไป ยังไม่เป็นการแข่งขันระหว่างแพลทฟอร์ม

ปัจจุบันสถานการณ์เปลี่ยนไปแล้ว มี 4 บริษัทยักษ์ใหญ่ที่กำลังห้ำหั่นกันในสงครามแพลทฟอร์มสมาร์ทโฟนเพื่อแย่งชิงความเป็นผู้นำในอุปกรณ์ที่มีความสำคัญสูงสุดสำหรับผู้ใช้

แอปเปิ้ลอาจจะไม่ได้เป็นบริษัทแรกที่นำเสนอผลิตภัณฑ์สมาร์ทโฟนในตลาด แต่อาจกล่าวได้ว่าเป็นบริษัทที่ทำให้ตลาดสมาร์ทโฟนพลิกโฉมคึกคักและเติบโตอย่างทวีคูณตั้งแต่การนำเสนอ iPhone เป็นครั้งแรกในปีค.ศ. 2007 จนถึงปัจจุบัน ก่อนหน้าที่แอปเปิลจะออกผลิตภัณฑ์ตระกูล iOS (iPod, iPhone, iPad) แม้ว่าจะมีบริษัทชั้นนำจำนวนมากพยายามออกผลิตภัณฑ์ต่างๆทั้งเครื่องเล่น mp3, สมาร์ทโฟน, และแทบเบล็ทมาก่อน แต่แอปเปิ้ลกลับสามารถทำให้ทุกคนวงการตื่นตลึงกับผลิตภัณฑ์ทุกประเภทที่ออกมา ที่ทั้งสวยมีสไตล์ ขนาดกะทัดรัด บางเบา และมีฟังก์ชั่นที่โดดเด่นไม่ซ้ำแบบใครได้อย่างน่าทึ่ง

และที่น่าทึ่งยิ่งกว่านั้นแอปเปิ้ลได้นำบทเรียนราคาแพงในตลาด PC มาใช้กับตลาด Smart Phone อย่างเยี่ยมยอด (แอปเปิ้ลเป็นผู้บุกเบิกตลาด PC ด้วย Apple II แต่กลับต้องพ่ายแพ้ค่าย อินเทล/ไมโครซอฟท์ ในภายหลัง โดยไมโครซอฟท์มุ่งเน้นด้านแพลทฟอร์มตั้งแต่วันแรก ต่างจากแอปเปิ้ลที่เน้นตัวผลิตภัณฑ์เป็นตัวๆไป) และผลักดันแพลทฟอร์ม iOS ของตัวเองให้เป็นผู้นำตั้งแต่วันแรก วันนี้กล่าวได้ว่าแพลทฟอร์ม iOS ของแอปเปิ้ลเป็นผู้นำตลาดโดยมีแอพพลิเคชั่น 300,000-400,000 แอพพลิเคชั่นและจำนวนอุปกรณ์ในตลาด (iPod+iPhone +iPad) กว่าร้อยล้านยูนิต ทำรายได้มหาศาลทั้งจากการขายอุปกรณ์และการขายแอพพลิเคชั่นและคอนเทนท์ต่างๆ ถึงแม้จะไม่ได้มียอดขายอันดับหนึ่งเพราะราคาที่สูงกว่าคู่แข่งอย่างมาก แต่แอปเปิ้ลเป็นผู้ครอบครองตลาดบนไว้อย่างเหนียวแน่น ด้วยความสำเร็จนี้ปัจจุบันแอปเปิ้ลกลายเป็นสัญลักษณ์ของความทันสมัยหรูหราอินเทรนด์ของคนทั่วโลก

กูเกิ้ลคืออีกบริษัทที่น่าจับตามองในสงครามสมาร์ทโฟน หลังจากประสบความสำเร็จจากเซิร์ชเอนจิ้นทำรายได้มหาศาลจากการโฆษณา และล้มแชมป์อย่างยาฮู (Yahoo!) ไปแลัว กูเกิ้ลก็เริ่มขยายแนวรบของตัวเองมายังอุปกรณ์สมาร์ทโฟน โดยการนำเสนอระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ (Android) ให้กับผู้ผลิตโทรศัพท์ชั้นนำอย่าง Samsung, Motorola, HTC, LG (กูเกิ้ลไม่ได้เน้นผลิตอุปกรณ์เองนัก) ซึ่งปัจจุบันประสบความสำเร็จอย่างถล่มทะลาย ปัจจุบันโทรศัพท์ที่ใช้แพลทฟอร์มแอนดรอยด์จากผู้ผลิตต่างๆรวมกันมียอดขายคู่คี่กับแชมป์เก่าอย่างโนเกียไปเรียบร้อยแล้วและมีแต่แนวโน้มที่จะเติบโตสูงขึ้นไปอีก ในแง่ของแอพพลิเคชั่นถึงแม้แอนดรอยด์จะมีแอพพลิเคชั่นหลัก 100,000 แอพพลิเคชั่น ก็ยังเป็นรอง iOS อยู่ในแง่จำนวน รวมทั้งสัดส่วนแอพพลิเคชั่นที่ฟรีก็ยังสูงกว่า iOS (หมายถึงสัดส่วนแอพพลิเคชั่นที่สร้างรายได้ยังต่ำกว่า iOS)

ในวันนี้สิ่งที่น่ากังวลของแพลทฟอร์มแอนดรอยด์คือปัญหาทรัพย์สินทางปัญญาที่เกี่ยวข้องกับภาษาจาวา (Java) ด้วยความรีบเร่งออกแพลทฟอร์มเพื่อออกมาต่อกรกับแอปเปิ้ลทำให้เกิดการนำเอาซอร์สโค้ดที่เกี่ยวข้องกับภาษาจาวา ซึ่งเป็นทรัพย์สินทางปัญญาของบริษัทซัน ไมโครซิสเต็มส์ (ปัจจุบันถูกซื้อไปโดยบริษัทโอราเคิล) มาใช้อย่างไม่ค่อยจะถูกต้องนักคือมีช่องโหว่ทางกฏหมาย ทำให้เกิดการฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายกันอยู่ในปัจจุบัน หากกูเกิ้ลแพ้นั่นหมายถึงระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์นี้อาจจะไม่ฟรีอีกต่อไปและอาจจะส่งผลต่อราคาของอุปกรณ์ที่ใช้แพลทฟอร์มนี้ และถ้าต้นทุนสูงมากอาจจะส่งผลต่อความนิยมของแพลทฟอร์มนี้ในอนาคตไมโครซอฟท์และโนเกียคือสองยักษ์ที่ดูเหมือนที่ผ่านมาจะวิ่งตามแอปเปิ้ลและกูเกิลไม่ค่อยจะทันในตลาดสมาร์ทโฟน ไม่ใช่ว่าสองบริษัทนี้ไม่เก่ง แต่ตลาดสมาร์ทโฟนเรียกได้ว่าเป็นเกมใหม่ ไม่สามารถนำกลยุทธ์ธุรกิจเดิมๆมาใช้ได้ เปิดโอกาสให้ผู้เล่นหน้าใหม่เข้ามาเบียดยักษ์ใหญ่ออกไปได้ ข่าวใหญ่เมื่อต้นปีนี้คือสองยักษ์ตกลงร่วมหอกันเรียบร้อย โนเกียประกาศข้อตกลงร่วมกับไมโครซอฟท์

ในอนาคตสมาร์ทโฟนของโนเกียจะใช้ระบบปฏิบัติการของไมโครซอฟท์คือวินโดวส์โฟน นั่นหมายถึงอนาคตบทบาทของระบบปฏิบัติการซึ่งเดิมได้รับการผลักดันจากโนเกียคือซิมเบียน (Symbian) และ มีโก (MeeGo) จะลดบทบาทลงในผลิตภัณฑ์ของโนเกีย

ถึงแม้ว่ายักษ์ใหญ่คู่นี้จะดูทุกลักทุเลในตลาดใหม่อย่างสมาร์ทโฟน แต่การรวมตัวกันครั้งนี้เป็นสิ่งที่มองข้ามไปไม่ได้เลย ทุกวันนี้โนเกียยังมียอดขายสมาร์ทโฟนที่กล่าวได้ว่าเป็นอันดับหนึ่งคู่คี่กับแอนดรอยด์อยู่ และไมโครซอฟท์ก็คือบริษัทที่ได้พิสูจน์ครั้งแล้วครั้งเล่าว่าถึงจะมาทีหลังแต่ก็ยึดความเป็นผู้นำตลาดได้ (Internet Explorer vs. Netscape, .NET vs. J2EE) ดังนั้นการรวมตัวของสองยักษ์นี้เป็นการเขย่าวงการอย่างอึกทึกครึกโครม

นอกจากยักษ์ทั้งสามที่ผมกล่าวถึงแล้วยังมีผู้ท้าชิงอื่นๆในตลาดสมาร์ทโฟนที่น่าจับตามองอีก เช่น Adobe ผู้พัฒนา Flash Player ซึ่งอาจจะพูดได้ว่าเป็นแพลทฟอร์มเช่นเดียวกันแต่เป็นแพลทฟอร์มระดับสูงที่ขี่อยู่บน OS อีกชั้นหนึ่ง และคงเป็นคู่แข่งที่น่ากลัว เพราะสตีฟ จอบส์ถึงกับต้องออกมากีดกันไม่ให้นำมาใช้ในอุปกรณ์ iOS (ด้วยเหตุผลข้ออ้างต่างๆนานา), อีกบริษัทหนึ่งที่น่าจับตามองคือ Research In Motion ผู้ผลิต Blackberry ซึ่งก็เป็นอุปกรณ์ยอดนิยมตัวหนึ่งยอดขายอันดับสี่รองจากโนเกีย, แอนดรอยด์ และ iOS และมีความนิยมอย่างสูงเช่นกัน

สำหรับผู้บริโภคอย่างเราๆท่านๆแล้วการแข่งขันของบริษัทยักษ์ใหญ่เหล่านี้มีแต่ข้อดี เพราะทำให้ทุกคนแข่งกันนำสิ่งที่ดีที่สุดถูกที่สุดมาให้พวกเรา เห็นเขาแข่งกันเพื่อพวกเราเหล่าผู้บริโภคก็ชื่นใจ มองย้อนกลับมาที่บ้านเราก็อยากให้เราเป็นเช่นนั้นเหมือนกัน แต่ดูเหมือนเราจะมีข้อจำกัดหลายอย่างทำให้อุตสาหกรรมโทรคมนาคมบ้านเราพิกลพิกาล มีสองระบบเขย่งกันอยู่ เหมือนแฝดสยาม และก็ดูท่าทีก็เหมือนจะไม่มีแหล่งพลังใดที่จะมีอิทธิพลมากเพียงพอที่จะผลักดันให้อุตสาหกรรมนี้กลับมาสมประกอบเป็นเหมือนบ้านเมืองอื่นที่เขาเจริญแล้วกันเลย ตอนนี้ก็ได้แต่หวังว่าเราจะมีโอกาสได้เห็นอุตสาหกรรมที่มีการแข่งขันเท่าเทียมกันเพื่อประโยชน์ที่สูงที่สุดของผู้บริโภคในชั่วอายุของพวกเราด้วยเถิด

บทความนี้ได้มีการตีพิมพ์ใน Telecom Journal